พระบาทสมเด็จพระปรเมทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นกษัตริย์ผู้เปิดประตูสู่อารยประเทศ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ปีชวด ฉศก จุลศักราช 1166 ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347
เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 20 พรรษา ทรงผนวชและได้รับสมณนามฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า “วชิรญาโณ” แปลว่า “ผู้มีญาณแข็งแกร่งประดุจดังเพชร” พระองค์ทรงดำรงในสมณเพศอยู่นานถึง 26 ปี ภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2394 พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่กราบบังคมทูลอัญเชิญพระองค์ให้ลาสิกขาบทขึ้นครองราชย์ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2394 มีพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
รัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 นับเป็นยุคแรกของการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเพื่อความทันสมัย เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีอารยธรรมและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่า ประเทศไทยต้องยอมทำการค้ากับต่างประเทศและรับความคิดเห็นใหม่แบบตะวันตก และจำเป็นต้องมีการแก้ไขปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภายนอกประเทศ รวมทั้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเพณีล้าสมัย ทรงใช้พระบรมราโชบายเป็นสายกลางผสมผสานระหว่าง ตะวันตกและตะวันออก ดังพระราชดำริว่า “อย่าติดของเก่า อย่าตื่นของใหม่ จงค้นหาดีในของเก่าของใหม่”
ระยะเวลา 17 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปกครองประเทศด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม ทรงบริหารแผ่นดิน บำเพ็ญพระราชกรณียกิจใหญ่น้อย ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นล้นพ้น ทรงเปิดสัมพันธภาพทางการทูตกับต่างประเทศ นับว่าในรัชสมัยของพระองค์ ประเทศไทยได้ เป็นไมตรีกับประเทศที่สำคัญในทวีปยุโรปและอเมริกาเกือบทั้งหมด ซึ่งในหมู่ชาวต่างประเทศต่าง ๆ นิยมเรียกขานพระองค์ว่า คิงส์มงกุฎ
ในรัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 นั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายโดยเฉพาะด้านต่างประเทศ และธรรมเนียมต่างๆ มีอาทิ โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้า ให้ความสะดวกทางการค้าแก่ชาวต่างประเทศมากขึ้น ทรงให้ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือ โดยให้เสียภาษีขาเข้าและขาออกแทน และให้นำข้าวสารไปขายยังต่างประเทศได้ อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ใช้ธรรมเนียมจับมืออย่างชาติตะวันตก โดยพระราชทานพระหัตถ์ให้แก่ผู้มาเข้าเฝ้าฯ จับเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2409 และถือเป็นขนบธรรมเนียมสืบเนื่องใช้มาจนทุกวันนี้
นอกจากนี้ ทรงยกเลิกประเพณีให้ชาวต่างประเทศหมอบคลาน โดยโปรดเกล้าฯ ให้ชาวต่างประเทศยืนเฝ้าฯ ได้ในท้องพระโรงและมีพระบรมราชานุญาตให้ดื่มเครื่องดื่ม และสูบบุหรี่ได้ต่อหน้าพระพักตร์ระหว่างปฏิสันถารด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้ #ข้าราชการไทยสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้าฯ ตามแบบอารยธรรมตะวันตก โปรดให้วังเจ้านาย สถานที่ราชการของไทยชักธงประจำตำแหน่งแบบกงสุลต่างประเทศ เมื่อทรงทราบว่าพระมหากษัตริย์ชาวยุโรปมีประเพณีประดับเครื่องหมายแสดงพระเกียรติยศที่ฉลองพระองค์ จึงโปรดให้ทำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สร้างเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ด้วย โดยทรงบัญญัติศัพท์ว่า “ดารา” แทนคำว่า “Star” และยังคงใช้คำนี้ในการเรียกส่วนประกอบของเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับชั้น 2 ขึ้นไปจนถึงชั้นสายสะพายมาจนถึงปัจจุบันนี้
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับ ดร. คาสเวลล์ (Caswell) หมอบลัดเลย์ (Bradley) และหมอเฮาซ์ (House) และยังทรงศึกษาภาษาลาตินกับสังฆราช พัลลกัวร์ (Pallegoix) ทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศส บาลี สันสกฤต และภาษามอญ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งประเทศตะวันออกพระองค์แรกที่ทรงรู้ภาษาอังกฤษ ทรงใช้ภาษาอังกฤษศึกษาคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และวิทยาการแขนงอื่น ๆ ทั้งยีงทรงส่งเสริมให้พระราชโอรส พระราชธิดา เจ้านายฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เรียนภาษาอังกฤษด้วย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในศาสตร์หลายแขนง โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ อันเป็นศาสตร์สมัยใหม่อย่างยิ่งในเวลานั้น ทรงสนพระทัยวิทยาศาสตร์มากโดยเฉพาะ ดาราศาสตร์ จนทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เล่ากันว่าพระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องดาวหาง และทรงประกาศมิให้ราษฎรหลงเชื่อเรื่องเล่าลือต่าง ๆ ให้เห็นเป็นเรื่องของปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งพระปรีชาญาณด้านดาราศาสตร์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เป็นที่ปรากฏชัดต่อสายตาชาวไทยและชาวโลก เมื่อพระองค์ #ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาว่า จะเกิดในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ซึ่งเป็นจริงตามที่พระองค์ทรงคำนวณทุกประการ
{Fullwidth}